กลยุทธ์การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ #3 | Strategies for Psychological Healthy Workplaces #3
ตอนที่ 3.1: Intervention
โดย นักจิตวิทยาการปรึกษา คุณเจ เจษฎา กลิ่นพูล | Counseling Psychologist @ ใจฟูบริการดูแลสุขภาพใจพนักงานสำหรับองค์กร
Intervention for Promoting Workplace Mental Health Issues
สำหรับวิธีการที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตในองค์กรได้ หรือเป็นวิธีการที่เราจะสามารถนำมาประยุกต์ใส่ไปในกลยุทธ์ขององค์กรเราเอง ผมขออนุญาตแบ่งออกเป็นข้อๆ ซึ่งจะมีกลยุทธ์หลักๆ อยู่ทั้งหมด 7 ข้อ แต่วิธีการที่ใช้ก็อาจจะแตกต่างกันไปก็ได้ โดยหัวข้อที่จะพูดถึง ได้แก่
- การฝึก Skills training ให้กับพนักงาน
- การเพิ่มโอกาสในการทำงาน
- การสร้างเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจนและยืดหยุ่นได้
- การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพนักงาน
- การฝึกทักษะการผ่อนคลายให้พนักงานและการสานสัมพันธ์
- การโปรโมตกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายให้พนักงาน
- การให้สวัสดิการด้านสุขภาพจิต
1. การฝึก Skills training ให้กับพนักงาน
ในหัวข้อแรก การฝึก Skills training ให้กับพนักงาน เป็นกลยุทธ์ที่ไม่มีความซับซ้อนและหลายบริษัทอาจมีแนวทางของการฝึกฝนทักษะต่างๆ ให้กับพนักอยู่แล้ว โดยอาจใช้แนวทางที่เรียกกันว่า Training Roadmap หรือ Job Training ที่เสริมสร้างทักษะต่างๆ ให้กับพนักงานสามารถทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หรือ สามารถรับมือกับงานที่ยากได้
โดยการออกแบบแนวทางการฝึก skill training ให้กับพนักงาน อาจเป็นการคำนึงถึงทักษะที่พนักงานควรมีเพื่อการทำงานนั้นๆ ให้ดีขึ้น เช่น เรื่องที่ควรรู้ในการทำงานนี้ เรื่องที่ควรรู้เพื่อพัฒนาทักษะในงานนี้ เรื่องที่ควรรู้เพื่อเลื่อนขั้นหรือเติบโตในสายอาชีพนั้นๆ รวมถึง เรื่องที่ควรรู้เพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกหรือเรียกว่าการ Reskill ให้กับพนักงาน
นอกจากนี้ ทักษะที่สามารถถูกออกแบบให้กับพนักงานได้เพิ่มเติมก็อาจเป็นเรื่องของทักษะด้าน soft skill ต่างๆ เช่น การให้ความรู้และวิธีรับมือการจัดการความเครียด การฝึกทักษะแก้ไขปัญหา และการพัฒนาทักษะการสื่อสาร เป็นต้น
2. การเพิ่มโอกาสในการทำงาน
โดยการวางโครงสร้างขององค์ให้พนักงานสามารถมีโอกาสใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ อาจประกอบไปด้วย การคำนึงถึงการออกแบบตำแหน่งงานหรือการมอบบทบาทหน้าที่ที่ต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะให้กับพนักงานคนนั้นๆ และมีการส่งเสริมให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้
สำหรับการสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อให้พนักงานมองเห็นโอกาสในการทำงาน หมายถึง การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีคุณค่าความหมาย และให้รางวัลหรือผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่พนักงาน โดยองค์กรอาจคำนึงถึงการตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตของพนักงานด้วยบทบาทของการทำงานที่พวกเขาได้รับ ทำให้พนักงานมองเห็นว่าพวกเขามีคุณค่าต่อการพัฒนาขององค์กร ให้ความสำคัญกับการที่พนักงานได้เข้ามามีส่วนรวมในผลสำเร็จขององค์กร และอาจให้รางวัลหรือผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอจนพนักงานเห็นได้ว่าสิ่งที่พวกเขาจะได้รับนั้นคุ้มค่าพอที่จะลงทุนลงแรงไปกับงานหรือการขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามเป้าหมายขององค์กรนั้น
นอกจากนี้ การเพิ่มโอกาสในการทำงานอย่างมีคุณภาพยังรวมไปถึงการทำให้พนักงานเห็นว่าพวกเขามีโอกาสในการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของตัวเอง หรือมองเห็นว่าพวกเขาจะสามารถเติบโตในสายอาชีพของตัวเองได้อย่างไรด้วย
การสร้างโอกาสในการทำงานอย่างมีคุณภาพเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้รับผิดชอบบทบาทที่เฉพาะเจาะจง การให้โอกาสแสดงความคิดเห็น การให้คำชมหรือรางวัลสำหรับการทำงานอย่างดีมาโดยตลอด และการทำให้เห็นโอกาสเติบโตในสายงานของตัวเองได้ เหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้พนักงานพึงพอใจกับงานที่ทำอยู่ รู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมีความหมาย และสามารถรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าจากการทำงานอย่างมีความหมายได้อีกด้วย ดังนั้น สุขภาพใจของพนักงานก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และมีภูมิคุ้มกันต่ออุปสรรคในการทำงานได้มากขึ้นเนื่องจากมองเห็นคุณค่าในตนเองและสิ่งที่ทำอยู่
3. การสร้างเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจนและยืดหยุ่นได้
การสร้างเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจน เป็นกลยุทธ์ที่แทบจะต้องควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสในการทำงานอย่างมีคุณภาพ โดยการสร้างเงื่อนไขที่ชัดเจนของการทำงานจะช่วยให้พนักงานไม่เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ แนวทางของการทำงาน และช่วยหใ้พนักงานสามารถหาทางบาลานซ์ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของตัวเอง (work-life balance) ได้มากขึ้น
แนวทางของการสร้างเงื่อนไขที่ชัดเจน ประกอบไปด้วย การกำหนดสถานที่ทำงาน การกำหนดเวลางาน การจัดตารางเวลานัดหมายที่ไม่กระทบชีวิตส่วนตัวของพนักงานหรืองานอื่นของพนักงาน และ การกำหนดเวลาในการประชุมไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง เป็นต้น
กล่าวได้ว่า การสร้างเงื่อนไขของการทำงานเป็นการกำหนดขอบเขตให้กับพนักงานและกำหนดขอบเขตอิทธิพลขององค์กรต่อพนักงานในทางอ้อม ซึ่งองค์กรควรพิจารณาถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานอย่างเหมาะสม และควรคำนึงถึงบทบาทการทำงานที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตพนักงานคนนั้นๆ ด้วย โดยอาจต้องพิจารณา Jod Description ที่ชัดเจน คำนึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่ และหากมีปัญหาเรื่องงานล้นมือพนักงานที่มีอยู่ ก็ควรพิจารณาเรื่องการจ้างงานเพิ่มอย่างเหมาะสม
ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การอนุญาตให้พนักงานทำงานแบบไฮบริด คือ เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และการอนุญาตให้พนักงานทำงานได้หลายๆ จุดของบริษัท ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้พนักงานมีความผ่อนคลายได้มากกว่า และ productive มากกว่า ซึ่งแนวทางเหล่านี้สามารถใช้การสอบถามพนักงานเกี่ยวกับสไตล์การทำงานที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับพนักงานในทีมได้เสมอ
>>> อ่านต่อ ตอนที่ 3.2: Intervention
อ่านบทความทั้งหมด >>> กลยุทธ์การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ | Strategies for Psychological Healthy Workplaces
- ตอนที่ 1: Focus
- ตอนที่ 2: จุดสำคัญในการสร้างกลยุทธ์
- ตอนที่ 3.1: Intervention
- ตอนที่ 3.2: Intervention
อ่านบทความทั้งหมดของ >>> “องค์กรจะป้องกันไม่ให้พนักงานหมดไฟได้อย่างไร?: แค่จัดการความเครียดได้พนักงานก็ไม่หมดไฟในการทำงาน” (คลิกเพื่อดูรายละเอียด)